การร้องไห้ได้ เป็นมิติทางความรู้สึกที่แสดงถึงความเป็นมนุษย์

ผู้ที่ร้องไห้ไม่ได้เลยก็ไม่ได้ผิด แต่ก็ต้องสังเกตใจตัวเองไว้เหมือนกันว่า หรือใจเราจะถูกบางสิ่งสกัดกั้นการเข้าถึงความอ่อนโยน จนอาจเผลอคิดว่าตนแข็งแกร่ง ความปีติ อ่อนโยน สงสาร ไม่จำเป็นต้องเกิดทุกครั้งทุกเมื่อ เกิดไปตามธรรมชาติ

ในมุมธรรมะ บางครั้งก็ยากจะอธิบายให้เข้าใจในความต่างของมิติ แค่บอกว่า ปล่อยวาง ก็เข้าใจผิดจนเตลิดเปิดเปิงไปเป็นปล่อยปละละเลย พอบอกว่า ต้องมีอุเบกขา ก็อาจเข้าใจผิดไปเป็น ต้องหนักแน่นจนไม่แสดงความรู้สึกหรือกดข่มปีติ ปฏิบัติธรรมแล้ว อย่าอายที่จะร้องไห้ หากใครทักบอกว่า ปฏิบัติธรรมแล้วทำไมอ่อนไหว ร้องไห้ ก็เอาคำอธิบายนี้ไปบอกเขาแล้วกัน คำว่า “ปฏิบัติธรรม” เป็นคำขลังที่มาพร้อมกับความกังขา จะต้องมีคนจ้องจับผิดว่า ปฏิบัติธรรมแล้วทำไมไม่เป็นแบบนั้น ทำไมจึงยังทำแบบนี้ บอกไปเลยว่า

“ไปปฏิบัติเพื่อให้เป็นมนุษย์ที่ดีขึ้น ไม่ใช่ว่าตอนนี้ฉันดีแล้ว หากฉันดีงามไปทุกอย่างแล้วฉันก็ไม่ต้องไปปฏิบัติธรรม ดังนั้นหากมีสิ่งใดที่ฉันยังทำไม่ดีหรือไม่เป็นไปตามที่คุณคาดหวัง โปรดจงรู้ว่า ฉันกำลังฝึกอยู่”

สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ พอปฏิบัติธรรมแล้ว เพื่อนเก่าหายไป เพราะจิตเขาจะเริ่มแยกแยะความต่าง จนรู้สึกอึดอัดเข้ากันไม่ได้ ใครรู้สึกแบบนั้นก็เป็นเรื่องปกติ ก็ต้องใช้เวลาปรับตัว แต่อย่าถึงกับตัดเพื่อน ควรรักษาเพื่อนเอาไว้ เพื่อเขาจะได้มีเราเป็นกัลยาณมิตร แสดงความต่างทีละคืบให้เห็น แต่อย่าไปตำหนิวิถีของเขาว่าไม่ดี แค่ไม่เหมาะกับเราเท่านั้น อะไรที่เคยทำร่วมกันได้ก็ทำไป หากปฏิบัติธรรมแล้วเพื่อนหายหมด แสดงว่ายังไม่เข้าใจวิถีธรรม

วิถีธรรมะ คือวิถีของผู้ถือคบเพลิงในความมืด ไม่ใช่ถือคบเพลิงมาส่องกันเองในที่ที่สว่างแล้ว ทำไป คบไป ซึมไป แทรกไป ด้วยความเข้าใจเขา เข้าใจเรา พอปฏิบัติแล้ว สุดท้ายคลื่นความถี่ทางธรรม ก็ดึงดูดให้เราอยากมาอยู่ใกล้กัน เพราะเป็นความรู้สึกของการได้มาอยู่ท่ามกลางวงล้อมของความรักอันบริสุทธิ์ ที่มีกระแสของพระบรมศาสดา แผ่มาเป็นกระแสต้นทาง ทำให้เรารู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย ได้พูดภาษาเดียวกัน มีพ่อแม่ครูบาอาจารย์คนเดียวกัน อย่างไรก็ดี อยู่ในแวดวงกัลยาณมิตรในสายธรรมแล้ว ก็อย่าโลกสวยเกินจริง อย่าลืมว่า ทุกคนมาภาวนาก็ล้วนมีกิเลสติดตัวมาด้วย ย่อมมีบ้างที่บางอย่างเขาทำไม่ถูกใจ หรือไม่ถูกต้อง กัลยาณมิตร คือการช่วยตักเตือนกัน พูดความจริงเพื่อแก้ไขไม่ใช่เพื่อประจาน หากใครทำไม่ดีแล้วเอาเขาไปประจาน ตัวคนประจานนี่แหละ แย่ยิ่งกว่าเขา เพราะแสดงว่า เราไม่ใช่กัลยาณมิตร ไม่ยอมรับความบกพร่องของคนอื่น และให้อภัยกันไม่ได้

เราปฏิบัติธรรมเพื่อการใช้ชีวิต ไม่ใช่เพื่อการหนีหายไปจากความจริง

ที่มา : คัดจาก คำสอนของท่านอาจารย์ เรื่อง “ในวงล้อมของความรัก”

1 พฤษภาคม 2565

ดำเนินงานโดย มูลนิธิโรงเรียนแห่งชีวิต

  • 462/12 ซอยอ่อนนุช 8 ถนนสุขุมวิท 77
    แขวงอ่อนนุช เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร 10250
  • จันทร์ - ศุกร์ เวลา 9.00 - 17.00 น.
  • 02 117 4063-4
  • 02 117 4065
  • info@bodhidhammayan.org

🚧 ภูเก็ต (เร็ว ๆ นี้)