การเวียนว่ายตายเกิดเป็นเรื่องที่ชาวพุทธมีพื้นฐานความเข้าใจได้ดี ส่วนชาวตะวันตกและผู้นับถือศาสนาอื่น อาจจะมีความเข้าใจอยู่บ้าง แต่มักไม่ค่อยเชื่อมั่นเสียทีเดียว ว่าเมื่อตายแล้วยังจะต้องมีชาติภพใหม่อีกหรือ ก็ในเมื่อร่างก็แข็งเป็นท่อนไม้ไร้ชีวิตไปแล้ว ก็น่าจะจบ ๆ กันไป
หากเรามองเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดเป็นเรื่องของความเชื่อ ก็จะต้องสงสัยกันไม่สิ้นสุด อาจารย์จึงขอกล่าวถึงเรื่องนี้ในมุมของวิทยาศาสตร์ด้านพลังงาน เพื่อให้พิจารณา ว่าการเวียนว่ายตายเกิดเกิดขึ้นได้อย่างไร
โลกทั้งใบนี้คือพลังงาน มีทั้งพลังงานที่มีความหยาบ คือมองเห็นได้ด้วยตาและละเอียดจนมองไม่เห็น แต่สามารถ เห็นผลของพลังงานนั้นได้ เช่น พลังงานลม พลังงานถูก จำแนกย่อยออกตามคุณสมบัติมากมาย เช่น พลังงานความร้อน พลังงานนํ้า พลังงานจลน์ พลังงานแม่เหล็ก พลังงานแรงโน้มถ่วง ฯลฯ ร่างกายของมนุษย์นั้นประกอบด้วยธาตุดิน 1 ส่วน ธาตุนํ้า 3 ส่วน และยังมีส่วนที่เป็นจิตวิญญาณเป็นตัวขับเคลื่อนร่างกาย อันใดที่มีแรงผลักดันนั้นก็คือพลังงาน ดังนั้นกล่าวได้ว่า มนุษย์ก็คือส่วนผสมของพลังงานดิน พลังงานนํ้า และพลังงานจิตวิญญาณ โดยเมื่อมีจิตวิญญาณเข้าไปเชื่อมอาศัยอยู่ ก็เกิดเป็นการขับเคลื่อนพลังงานส่วนของร่างกายขึ้นมา กลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์ โดยมีอวัยวะต่าง ๆ เป็นกลไกทำงาน มีสมองไว้คิดไตร่ตรองตามคำสั่งของจิต ซึ่งทางธรรมเรียกว่า ปัญญาสมอง มีก้อนเนื้อหัวใจทำงาน สูบฉีดโลหิต ซึ่งคือธาตุนํ้าไปหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
ในระหว่างที่มีชีวิตอยู่นี้เอง จิตซึ่งเป็นพลังงานที่ทรงอานุภาพมาก มีกระบวนการทำงานที่มหัศจรรย์เหมือนชิปคอมพิวเตอร์ คือ สามารถกักเก็บความทรงจำและรับรู้ความรู้สึกนึกคิด ก็เกิดการปรุงแต่งทางอารมณ์ขึ้นมาตามสิ่งที่เข้ามากระทบกายและใจ เกิดเป็นความรู้สึกชอบ ไม่ชอบ หรือกลาง ๆ แล้วก็พัฒนาเป็นระดับของอารมณ์ คือ จากชอบก็กลายเป็นความลุ่มหลง จากไม่ชอบก็กลายเป็นความโกรธหรือชิงชัง แล้วก็มีความโลภและอีกหลากหลายอารมณ์ตามมา จากอารมณ์นำไปสู่ความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ แล้วกระแสที่หนักขึ้น มีพลังมากขึ้นนี้ ก็ไปสะสมอยู่ในกระแสจิต ทำให้จิตหนักขึ้นเรื่อย ๆ
บ่อยครั้งที่บุคคลไม่ปรุงแค่ความคิดหรือมโนกรรมที่คิดวนอยู่ในหัว แต่พัฒนาไปสู่กายกรรมและวจีกรรมด้วย ทำให้การกระทำหรือกรรมมีพลังและนํ้าหนักมากยิ่งขึ้น กรรมนั้นก็ไปเพิ่มมวลความหนาแน่นในกระแสจิต เช่น พอโกรธแล้วด่าออกไป แม้กรรมกริยานั้นจบไปแล้ว แต่จิตยังคงสะสมคลื่นอารมณ์นั้นไว้ในจิตไร้สำนึก ซึ่งทางธรรมเรียกว่าจิตสังขาร พอร่างกายเสื่อมจนถึงแก่ความตาย จิตก็ถอนออกจากกายนั้น คืนไปอยู่ในรูปของพลังงานละเอียด โดยจิตก็แบกผลของกรรมและการปรุงแต่งอารมณ์ไว้ด้วย ทำให้จิตหนัก
ตามกฎของแรงโน้มถ่วง สิ่งใดที่หนักย่อมถูกดูดลงสู่เบื้องล่าง ก็ทำให้จิตติดอยู่ในคลื่นพลังงานของจักรวาลนั้น ๆ เมื่อจิตกลายเป็นพลังงานหนัก ก็เลยทำให้ต้องวนกลับมาเวียนว่ายตายเกิดในวัฏจักรอีก โดยจะมาเกิดในภพภูมิหรือ มีการปฏิสนธิแปรสภาพเช่นใด ก็ขึ้นอยู่กับคุณลักษณะของสิ่งที่สะสมอยู่ในจิต ตามหลักของเหตุและปัจจัย บุคคลหว่านเมล็ดพันธุ์ไว้เช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น ดังนั้นจิตก่อเหตุและสะสมสิ่งใดไว้ เมื่อถึงเวลาที่สิ่งที่สะสมไว้บ่มเพาะผลเต็มที่ ก็จะแสดงเป็นผลอย่างใดอย่างหนึ่ง ขึ้นชื่อว่าพลังงานนั้น ไม่มีคำว่าสูญ มีแต่แปรสภาพ การเวียนว่ายตายเกิดจึงเป็นการแปรสภาพของพลังงานที่มีผลแห่งการกระทำเป็นเหตุและปัจจัย ผลักดันให้คุณภาพหรือคุณลักษณะของพลังงานนั้น ๆ เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นหรือแย่ลง
อาจารย์ขอหยิบยกเรื่องบุพกรรมเก่าของพระพุทธเจ้า ในเรื่องนี้มาเป็นข้อพิจารณา ทั้งในมุมของการเวียนว่ายตายเกิดและในมุมของการส่งผลของกรรม โดยกรรมเก่าของพระพุทธเจ้าเรื่องนี้ สะเทือนแผ่นดินใจยิ่งนัก
ในสมัยนั้นพระองค์เกิดเป็นบุตรช่างทองที่มีรูปงามมาก และมีฝีมือทำเครื่องทองยอดเยี่ยม เศรษฐีเห็นมานพรูปงาม ก็เกรงว่าธิดาของตนจะตกหลุมรัก เพราะนางกำลังจะแต่งงาน เศรษฐีจึงป้องกันไม่ให้ธิดาเห็นหน้ามานพนี้ แต่ก่อนหน้าจะเข้าพิธี นางกาญจนาวดี ธิดาเศรษฐีได้เคยลอบมองหน้ามานพนี้ แล้วก็เกิดความหลงใหลและพยายามจะนัดพบกับมานพ แต่ก็คลาดแคล้วไม่ได้พบกัน จนกระทั่งนางแต่งงานไป
ต่อมามานพนี้ได้เห็นหน้าของนางเข้าก็หลงรัก และคิดจะร่วมอภิรมย์กับหญิงผู้มีสามีนี้ จึงทำอุบายเอาเครื่องทองอย่างดี ไปถวายพระมหาอุปราชเพื่อให้พอพระทัย จากนั้นพระมหาอุปราชก็เลยตกรางวัลให้ เป็นการร่วมสมคบกันวางแผน ให้มานพนี้ปลอมตัวเป็นผู้หญิง และอ้างว่าหญิงปลอมนี้เป็นน้องหญิงของพระองค์ เพื่อให้เข้าไปเรือนชั้นในของนางกาญจนาวดีได้ พระมหาอุปราชใช้อำนาจสั่งเศรษฐีห้ามมิให้สามีนางและคนอื่น ๆ เข้าไปในห้องเด็ดขาด เมื่อทั้งสองได้เจอกัน ความหน้ามืดตามัวก็ครอบงำ มานพนี้ได้เสพกามกับนางตลอด 3 เดือนโดยไม่มีผู้ใดล่วงรู้ จากนั้นพระมหาอุปราชก็มารับมานพนี้ออกไป
ด้วยบาปกรรมจากการผิดศีลข้อ 3 (กาเมฯ) โดยเจตนา มีการวางแผนเป็นขั้นตอน จนก่อเกิดเป็นอกุศลกรรมหนัก เป็นเหตุให้มานพนี้เมื่อตายแล้วต้องไปสู่อบายภูมิทั้ง 4 คือ นรก เปรต อสุรกาย เดรัจฉาน นานถึง 14 กัป และยังมีเศษกรรมตกค้าง ต้องไปเกิดเป็นโค เป็นลา เป็นคนพิการหูหนวกตาบอดแต่กำเนิด เป็นกะเทย เป็นผู้หญิง อย่างละ 500 ชาติ แม้เป็นหญิงแล้วก็ยังต้องรับโทษเป็นโสเภณีบ้าง ถูกข่มขืนบ้าง ซึ่งกว่าจะได้เกิดเป็นผู้หญิงดี ๆ และพ้นจากกรรมก็นานแสนนาน
จนเมื่อพ้นกรรมและได้เกิดเป็นมนุษย์ในสมัยพระพุทธเจ้าทีปังกร พระองค์ได้บวชเป็นฤๅษีมีนามว่า “สุเมธดาบส” พระพุทธเจ้าทีปังกรได้ทรงพยากรณ์ว่า ดาบสนี้จะได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในอนาคตจากนี้ไปอีก 4 อสงไขย กับอีกแสนมหากัป มีชื่อว่า “พระศรีศากยมุนีโคดมพุทธเจ้า” คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในภัทรกัปนี้เอง
แม้แต่พระพุทธเจ้าเองก็ทรงมีอดีตชาติที่เพิ่มวงจรแห่งการเกิดให้ต้องมาชดใช้กรรมถึง 14 กัป ต้องพบกับทุกขเวทนาอันสาหัส เพราะการไม่ยับยั้งชั่งใจและคบมิตรชั่ว ร่วมทำกรรมเพื่อสนองความอยาก ผลกรรมจึงหนักหนาสาหัสเกินพรรณนา แทนที่จะได้ย่นย่อภพชาติ แต่พลาดในเรื่องศีล ก็กลับกลายเป็นการเพิ่มภพชาติเพื่อมาชดใช้กรรมอย่างหฤโหด
กล่าวในเชิงพลังงาน การที่มานพนั้นต้องไปเวียนว่ายอยู่ในอบายภูมิทั้ง 4 แล้วยังมีเศษกรรมตกค้างให้เกิดมามีสภาพที่น่าสลดสังเวช ก็เป็นเพราะพลังงานหนักที่สะสมไว้ ในจิตได้แปรสภาพคุณลักษณะมาเป็นวิบาก ส่งผลทำให้มีสังขารที่ไม่สมบูรณ์ และต้องมาถูกกระทำไม่ดีต่าง ๆ หากเปรียบเป็นนํ้าบริสุทธิ์ เมื่อมีดินโคลน นํ้าเน่า และยาพิษโปรยลงไป นํ้าบริสุทธิ์ก็กลายสภาพเป็นนํ้าเน่าเสีย จนกว่าสภาพนั้นจะเจือจางลง หรือได้รับการชำระความไม่สะอาดออกไป นํ้านั้นจึงจะกลายเป็นนํ้าบริสุทธิ์ได้อีกครั้ง
การพลั้งเผลอกระทำบาปกรรมโดยมีเจตนาแรง จึงส่งผลกรรมแรงมาก และส่งผลต่อเนื่องยาวนาน เพราะผู้เพาะเมล็ดพันธุ์กรรมนั้นตั้งใจเพาะ คือวางแผนและลงมือกระทำอย่างสิ้นความยำเกรงในธรรม การไร้ความละอายชั่วกลัวบาปนี้เอง ทำให้ในชาติภพหนึ่งมานพจึงได้อัตภาพเป็นคนพิการ หูหนวกตาบอด อันเนื่องมาจากการเมินกฎแห่งศีลธรรม
ในทางธรรมนั้น พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากความเศร้าหมอง คือความโลภ โกรธ หลง ที่สะสมอยู่ในจิต และถอนความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ เพราะแม้จะชำระร่างกายภายนอกให้สะอาดเพียงใด ก็ไม่สามารถพ้นไปจากวงจรแห่งการเวียนว่ายตายเกิดได้ ต้องชำระลงมาที่ใจ หากใจสะอาดบริสุทธิ์จากกระแสนั้น นํ้าหนักจิตก็จะเบา อยู่ในสภาพไร้นํ้าหนักก็พ้นจากพลังงานแรงโน้มถ่วง ไม่ต้องหวนกลับมาว่ายวนในกระแสพลังงานของโลกหรือวัฏสงสาร อีกเลย
วัฏ แปลว่า วน
สงสาร แปลว่า สภาพที่น่าสลดสังเวช
หากต้องการพ้นไปจากสภาพที่น่าสังเวช ต้องเริ่มจากการรักษาศีล คือการไม่ทำบาปทั้งปวง การทำความดีให้ถึงพร้อม และการชำระจิตให้บริสุทธิ์ นี่คือคำสอนของพระบรมศาสดา
ที่มา: นิตยสารข้ามห้วงมหรรณพ ฉบับที่ 37