ริษยา แปลความตามพจนานุกรมหมายถึง ความรู้สึกที่ไม่อยากให้คนอื่นได้ดี ทนไม่ได้ที่คนอื่นได้ดี ร้อนรุ่มใจเมื่อเห็นคนอื่นได้ดีกว่า 

ความริษยาเป็นการปรุงแต่งที่มีลักษณะนํ้านิ่งไหลลึก คือดูเผิน ๆ เหมือนเป็นความรู้สึกที่สามารถควบคุมได้ แต่จริง ๆ แล้วมีแรงผลักดันให้ก่อกรรมสูงมาก เปรียบได้ดังคลื่นใต้นํ้า สำหรับพระพุทธศาสนา ไม่มีแรงริษยาของผู้ใดที่จะรุนแรงและโด่งดังไปกว่าพลังริษยาของ พระเทวทัตที่มีต่อพระพุทธเจ้า 

ที่จริงแล้ว นับตั้งแต่พระพุทธองค์ทรงประกาศพระศาสนา และเกิดมีผู้ศรัทธามากมายทั่วชมพูทวีป เพราะพระองค์ทรงสอนแบบเปิดปัญญา ให้ยอมรับและพิจารณาด้วยเหตุและผล ทำให้ผู้ที่มีฐานบุญมาดีเกิดดวงตาเห็นธรรม จนส่วนมากเมื่อฟังคำสอนของ พระองค์ ก็อุทานว่า “เหมือนหงายของที่ควํ่าให้เปิดออก บอกทางแก่คนหลงทาง ส่องประทีปในที่มืด” 

ตัวอย่างคำสอนที่ทรงตีลงไปเปิดปัญญาก็เช่น “สิ่งใดมีการเกิดเป็นธรรมดา สิ่งนั้นมีความดับเป็นธรรมดา” ต่างจากคำสอนของเจ้าลัทธิต่าง ๆ ที่บ้างเน้นเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ บ้างเน้นการโต้วาทะ บ้างก็สอนให้ดับทุกข์ด้วยการทรมานตนเอง ทั้ง ๆ ที่เมื่อทรมาน ไปแล้ว รากของราคะและโทสะก็ยังคงอยู่ 

พระพุทธองค์ทรงทำให้เจ้าลัทธิอื่น ๆ เสียผู้ศรัทธาไปเป็นจำนวนมาก จนเจ้าลัทธิหลายคนมีจิตริษยาและวางแผนประทุษร้ายพระองค์ในหลายรูปแบบ เช่น กล่าวหาว่าพระองค์ทรงทำให้นางจิญจมาณวิกาท้อง เพื่อให้สาธุชนสิ้นศรัทธา แต่ด้วยพุทธบารมี ความจริงก็ปรากฏเสมอทุกครั้งที่ทรงถูกใส่ความ แต่ในบรรดาผู้ที่มีจิตริษยาพระพุทธองค์ คนเหล่านั้นมิใช่ผู้ที่เป็นสาวก ที่ได้ศึกษา และปฏิบัติบำเพ็ญสมณธรรมกับพระองค์ มีแต่พระเทวทัตเท่านั้นที่เป็นทั้งพระสาวกและพระญาติ พระเทวทัตมีจิตริษยาต่อพระพุทธองค์ที่ทรงเป็นที่ศรัทธาของกษัตริย์ เสนาบดี และ มหาชนทุกชนชั้น ความริษยาทำให้คิดอยากตั้งตัวเป็นใหญ่ โดยหลงว่าการที่ตนมีอภิญญาสามารถแสดงปาฏิหาริย์ได้ ก็น่าจะมีบารมีเท่าพระพุทธเจ้า จนนำไปสู่การดึงพระสาวกรูปอื่น ๆ ให้ไปติดตามตนแทนที่จะติดตามพระพุทธเจ้า และด้วยแรงริษยาอันพลุ่งพล่าน พระเทวทัตก็คิดว่า ตราบใดที่พระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นพระบรมครูของตนยังมีพระชนม์ชีพอยู่ ความปรารถนาที่จะเป็นใหญ่ของตนย่อมไม่สมหวัง จึงคิดร้ายถึงขนาดลอบปลงพระชนม์ 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ เกิดจากการก่อตัวของจิตริษยาที่มี ลักษณะเป็นไฟสุมขอน ที่นอกจากจะไม่มอด แต่กลับลุกโชนขึ้น จนไปสู่จุดที่ไม่มีวันหวนคืน หากพระเทวทัตจะสังเกตตนเองสักนิดว่า คุณธรรมสำคัญของความเป็นมนุษย์ คือความกตัญญูต่อพระองค์ผู้ทรงพระคุณผู้สอนสั่งวิชาให้ หายไป และจิตที่มีแต่ความรุ่มร้อน ชิงดีชิงเด่น จิตเช่นนี้จะเป็นจิตของผู้บำเพ็ญสมณธรรมให้พ้นจากราคะโทสะได้อย่างไร หากสังเกตตนเองสักนิด คงไม่ต้องประสบกรรมเช่นนี้ เมื่อปล่อยให้พลังความริษยาถาโถมและแสดงออกจนไม่เหลืออะไรจะเผยอีกต่อไป เพราะถึงขั้นคิดปลงพระชนม์แล้ว พระเทวทัตก็ตื่นจากพลังริษยา แต่เป็นการตื่นที่สายเกินไป เพราะผลกรรมที่หนักหนา สาหัสทำให้พระเทวทัตถูกธรณีสูบลงสู่มหานรกอเวจี 

เหตุย้อนหลังในกาลก่อนที่ทำให้พระเทวทัตกระทำการอันอุกอาจถึงปานนี้ มิได้เกิดจากไฟริษยาในภพนี้เท่านั้น แต่เกิดจากไฟแค้นที่สะสมไว้ในดวงจิตที่มีต่อพระพุทธเจ้าตั้งแต่อดีตกาล เมื่อครั้งที่ทั้งสองเป็นพ่อค้าวาณิช โดยพระพุทธองค์เป็นพ่อค้าที่มีคุณธรรม ตรงข้ามกับพระเทวทัตเกิดเป็นพ่อค้าที่เอารัดเอาเปรียบ อยากได้ถาดทองคำของครอบครัวยายหลานโดยไม่ยอมเสียอะไรเลย ในที่สุดพ่อค้าจิตใจดีก็ได้ถาดทองคำนั้นจากการให้ของแลกเปลี่ยนที่เหมาะสม เมื่อพ่อค้าผู้เอาเปรียบรู้เข้า ก็เกิดความอาฆาตแค้นและตั้งจิตจองเวร พ่อค้าจิตใจดี ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เกิดเป็นเหตุแห่งไฟแค้นไฟริษยา ข้ามภพชาติหลายพุทธันดร 

จะเห็นว่า จิตใจของมนุษย์ที่เวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสาร ย่อมสะสมกิเลสการปรุงแต่งที่เป็นอันตรายต่อภพชาติ ทำให้ต่อสายการมาเวียนว่ายตายเกิดอย่างไม่จบสิ้น จิตริษยาและอาฆาตแค้นก็คือกิเลสที่ฝังคลุกเคล้าอยู่กับจิตเดิม และเมื่อใดที่จิตมีสติอ่อน ทั้งยังไม่หนักแน่นในคุณธรรม ก็จะทำให้กิเลส ส่วนนี้มีพลังสูงขึ้นมา 

แล้วจะทำอย่างไรให้พ้นภัยจากไฟแค้นและไฟริษยา ข้าพเจ้าขอให้หลักการเบื้องต้น ดังนี้ 

1. การสังเกตจิตตนว่ามีความรู้สึกนี้อยู่ในจิตมากน้อยเพียงใด หากมีให้ยอมรับ อย่าปฏิเสธ โดยไม่ต้องบอกความรู้สึกนี้ให้ผู้อื่นทราบ แค่ยอมรับอยู่ในใจ เพียงการยอมรับ คือจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การแก้ไข 

2. เมื่อความริษยาหรือความโกรธแค้นผุดขึ้นในจิตอย่างต่อเนื่อง ให้มีสติแล้วสอนจิตว่า “ความริษยา (ความแค้น) นี้ ไม่พึงมีในเรา” อย่าเติมไฟแห่งความแค้นหรือความริษยา ให้มีสติจดจ่อกับการทำกิจการงานใด ๆ ของตนต่อไป ไม่ไปสนใจกับอารมณ์การปรุงแต่งนั้น เมื่อไม่ไปเพิ่มนํ้าหนักให้ ความรู้สึกนั้นจะอ่อนแรงลงไปเรื่อย ๆ ด้วยกำลังของสติ ที่ทำหน้าที่เหมือนกรรไกรบั่นความคิดที่เป็นอกุศล 

3. ต้องชำระความเศร้าหมองของจิต โดยเริ่มจากการสวดมนต์ในบทที่มีพลังในการปราบปรามกิเลส คือ พระคาถาชินบัญชร ยิ่งไม่อยากสวดยิ่งต้องสวด การสวดมนต์เมื่อรู้สึกว่า ความรู้สึกนี้รุนแรง ควรสวดให้ได้ 7–9 จบในคราเดียวในช่วงนั้น ๆ เพื่อพึ่งพุทธมนต์หรือพุทธบารมีให้กิเลสนั้นอ่อนแรงลง และควรตั้งใจที่จะพัฒนาตนไปสู่การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เพราะหลักการของวิปัสสนามีพลังในการขุดรากถอนโคนจิตที่เป็นพิษ หรือเรียกว่า อาสวกิเลสเครื่องดองสันดาน ตราบใดที่จิตนี้ยังคงอยู่ในก้นบึ้ง จิตริษยาอาฆาตสามารถเติบใหญ่ และเป็นภัยแก่ชีวิตได้ทุกเมื่อ 

ขึ้นชื่อว่ามนุษย์นั้น คือผู้ที่เกิดมาด้วยอานุภาพแห่งบุญและบาปควบคู่กัน จะมีแต่บุญก็หาไม่ จะมีแต่บาปอย่างเดียวก็ไม่ใช่ ดังนั้น เมื่อตระหนักว่าในดวงจิตนี้สะสมความเศร้าหมองมาเนิ่นนาน จึงควรให้ความสำคัญกับการชำระความเศร้าหมองที่ปรากฏแก่จิต หากมัวแต่ให้ความสำคัญแต่ความสำเร็จทางโลก ไม่เฉลียวใจว่าตนนั้นสะสมพิษในจิตที่รอเวลาแผลงฤทธิ์ เมื่อนั้นก็อาจจะสายเกินไป การรู้ตัว ยอมรับ และตั้งใจแก้ไข คือ ทางรอดและทางเจริญ

อาจารย์อัจฉราวดี วงศ์สกล

คัดจากนิตยสารข้ามห้วงมหรรณพ ฉบับที่ 39

ดำเนินงานโดย มูลนิธิโรงเรียนแห่งชีวิต

  • 462/12 ซอยอ่อนนุช 8 ถนนสุขุมวิท 77
    แขวงอ่อนนุช เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร 10250
  • จันทร์ - ศุกร์ เวลา 9.00 - 17.00 น.
  • 02 117 4063-4
  • 02 117 4065
  • info@bodhidhammayan.org

🚧 ภูเก็ต (เร็ว ๆ นี้)