ความดีงาม ความถูกต้อง และความเหมาะสม

จะเชื่อ จะศรัทธาใครก็ไม่ว่า

แต่ระวังอย่าให้เป็นศรัทธาที่มืดบอด ขาดการไตร่ตรอง เพราะจะมีบาปติดตัว

ธรรมะ คือหลักธรรมชาติ

ธรรมะ ในเชิงคำสอนนั้น ประกอบไปด้วยหลักให้พิจารณาสามประการคือ

***ความดีงาม ความถูกต้อง และความเหมาะสม***

หากข้อใดข้อหนึ่งขาดไป ก็จะกลายเป็นความเพี้ยนได้

คิดว่าดี แต่ไม่ถูกต้องก็ไม่ได้

พูดแต่หลักธรรมคำสอนให้คนทำดี แต่การสอนไม่คำนึงถึงความเหมาะสม ก็ไม่ได้ พระธรรมวินัยจึงมีหลักของอาวุโส หากเป็นพระภิกษุก็เคารพกันด้วยพรรษา เป็นฆราวาสหรือคนธรรมดาก็มีลำดับการเคารพด้วยหลัก วัยวุฒิ คืออายุ ชาติวุฒิคือชาติกำเนิด คุณวุฒิคือการเคารพด้วยคุณธรรม (อยู่ในธรรมข้อบุญกิริยาวัตถุ 10 ประการ)

เมื่อคุณวุฒิหรือคุณธรรมพิสูจน์ไม่ได้

ก็ต้องยึดหลักวัยวุฒิและชาติวุฒิ เป็นสำคัญ

ชาวพุทธย่อมรู้ว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องทุกข์และวิธีการดับทุกข์

ทรงสอนเรื่องการปล่อยวาง ในหลักธรรมสัปปุริสธรรม 7 อันเป็นธรรมของคนดี ประกอบด้วย รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักตน รู้จักประมาณ รู้จักกาล รู้จักสังคม รู้จักบุคคล เมื่อไม่รู้จักบุคคลหรือไม่รู้จักกาลเทศะอันควร ก็นำไปสู่การแสดงออกที่ผิดเพี้ยนต่อสังคม นำไปสู่การติเตียนของสาธารณชน

พูดธรรมถูกแต่วิธีการผิด ทั้งผู้พูดและผู้สนับสนุนก็ต้องมีบาปติดตัว

โทษฐานทำให้พระศาสนามัวหมอง ที่ทำให้คนเห็นว่าพุทธบริษัทไม่มีปัญญา กระทำการอันมืดบอด ซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้คนเสื่อมศรัทธา เพราะคนในพระศาสนา กระทำการเยี่ยงนี้

บาปตรงนี้แหละ

อ.อัจฉราวดี วงศ์สกล
25 เมษายน 2567

    Comments are closed

    ดำเนินงานโดย มูลนิธิโรงเรียนแห่งชีวิต

    • 462/12 ซอยอ่อนนุช 8 ถนนสุขุมวิท 77
      แขวงอ่อนนุช เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร 10250
    • จันทร์ - ศุกร์ เวลา 9.00 - 17.00 น.
    • 02 117 4063-4
    • 02 117 4065
    • info@bodhidhammayan.org

    🚧 ภูเก็ต (เร็ว ๆ นี้)